เยาวชนไทยควรนำแบบอย่างของพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต หากทำได้จะเป็นบุุคคลที่ทำประโยชน่ ต่อตนเอง ครอบครัว บุคคลรอบข้าง และประเทศชาติ จะประสบความเจริญก้าวหน้า รุ่งเรืองในระดับสูงสุด เป็นปูชนียบุคคลระดับชาติในเบื้องหน้า

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติ ดังนี้

       ๑. เป็นผู้มีความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร รัก สนใจ มุ่งมั่น ในการศึกษาเล่าเรียน ข้อมูลประกอบดังนี้

ใช้เวลาในการศึกษาเล่าเรียนเรียนหนังสือไทย หนังสือขอมและคัมภีร์ต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจ วิริยะ อุตสาหะ ดังนี้

๑.๑. เรียนหนังสือไทยกับพระกรรมวาจาจารย์ (จัน)

๑.๒. เรียนหนังสือขอมกับพระครูวิหารกิจานุการ (กรรมวาจาจีน)

๑.๓. เรียนคัมภีร์สารสงเคราะห์ ในสำนักสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)

๑.๔. เรียนคัมภีร์มงคลทีปนีในสำนักพระ พระอุปัชฌาย์ (ศุข)

๑.๕. เรียนคัมภีร์ มูลกัจจายน์ในสำนักสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน)

๑.๖. เรียนคัมภีร์กังขาวิตะระณี ในสำนักอาจารย์เกิด (วัดแหลม)

๑.๗. เรียนคัมภีร์มหาวงศ์ในสำนักพระครูด้วง

๑.๘. เรียนคัมภีร์อื่น ๆ ในสำนักพระครูปาน

๑.๙. เรียนคัมภีร์อื่น ๆ กับพระใบฎีกาแก้ว

๑.๑๐. เรียนคัมภีร์อื่น ๆ กับพระอาจารย์คง

๑.๑๑. เรียนคัมภีร์อื่น ๆ กับอาจารย์ด้วง

๑.๑๒. เรียนวิภัตติกะถาคัณฐาภรณ์สัตถสาร วชิรสารในสำนักอาจารย์แสง (เป็นคฤหัสถ์ )

๑.๑๓. เรียนวุตโตไทย ในสำนักหม่อมเจ้าอ้น บ้านถนนโรงครก ( เป็นคฤหัสถ์ ) ในปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๐๔ (พ.ศ. ๒๓๘๕) เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี ท่านได้อุปสมบทที่วัดสระเกษ (พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เกิดเมื่อ เดือนแปด แรม ๒ ค่ำ) หลังจากการอุปสมบทได้ศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักพระอาจารย์อื่น ๆ ต่ออีก ๓ พรรษา

๑๔. เรียนพระปริยัติธรรม เรียนคัมภีร์วิสุทธิมรรคกับพระวิเชียรปรีชา (กลิ่น) เจ้ากรมราชบัณฑิตที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะที่ วัดราชบูรณะ มีกรมหมื่นไกรสรวิชิตเป็นผู้กำกับ สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ในขณะบวชได้ ๓ พรรษา

๑๕. ศึกษาพระปริยัติธรรม ในสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงผนวชโดยฝากตัวเป็นสานุศิษย์ฝ่ายอันเตวาสิก มีพระธรรมการบดี (ศุก) เมื่อยังบวชเรียนเป็นธุระสั่งสอน การไปเรียนวิชาเหล่านี่ แต่ละสำนัก ท่านไปอย่างไร การเข้าไปฝากตัวเป็นศิษย่ ของสามเณรน้อย ท่านต้องใช้วาทะอย่างไร แค่สำนักของร.๔ พระภิกษุคนละนิกาย เข้าศึกษาได้อย่างไร

       ๒. เป็นผู้มีความกตัญญู รู้คุณ และ พยายามตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ  เมื่ออายุได้ประมาณ ๖ หรือ ๗ ปี เรียนหนังสือไทยกับหลวงบันเทาทุกขราษฎร์ (ไทย) กรม การเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพี่ชายคนใหญ่ ในเวลานั้นหลวงบันเทาทุกขราษฎร์ อุปสมบทและจำพรรษา อยู่ที่วัดโสธร ในศรีสุนทรานุประวัติ เขียนโดยบุตรชายคนโตของพระยาศรี (น้อย) สรุปว่ามหาน้อยเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลขอย้ายพี่ชายท่านจากหัวเมืองกลับเมืองฉะเชิงเทรา

       ๓. เป็นผู้มีความรู้ความสามารถอย่างยิ่งยวด มีความรู้แตกฉานทั้งภาษาไทย ภาษาขอม ภาษามคธ และการแต่งคำประพันธ์ มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญวิชาการหลายแขนง แม้แต่ วิถีพื้นบ้าน รวมทั้งด้านพุทธศาสนา

       ๔. เป็นผู้มีความจงรักภักดีเป็นเลิศต่อพระมหากษัตริย์ จนเป็นที่ประจักษ์ สมดัง ราชทินนาม พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดีพิริยะพาหะ ความจงรักภักดี นอกจากเป็นที่ประจักษ์ชัดด้วยประวัติของท่านในการดำรงชีวิตใต้เบื้องพระยุคลบาทแล้ว ความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังปรากฏอยู่ในผลงานนิพนธ์ของท่าน เช่น ในลิลิตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในร่ายประชุมโคลงภาพพระราชพงศาวดาร และในท้ายเล่มของหนังสือ “สยามสาธก วรรณสาทิศ” ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย) ได้คิดคัดศัพท์ภาษามคธ ต่าง ๆ รวมเป็นพวกไว้ เพื่อฉลองพระเดชพระคุณ เฉลิมปัญญาบารมี มีความดังนี้..... ต่อไปนี้เป็น คาถาประณิธานของข้าพระพุทธเจ้าว่า ในชาติปัจจุบันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้เป็นข้าในใต้ ฝ่าละอองธุลีพระบาทแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมราชาธิราช ผู้ดำรงสุจริตยุติธรรม พระองค์ได้ทรง พระกรุณาชุบเกล้าฯ เลี้ยงข้าพระพุทธเจ้าฉันใด ข้าพระพุทธเจ้าจะเกิดต่อไปในภพชาติต่าง ๆ ภายน่า ถ้า ยังไม่สิ้นชาติ ยังต้องเกิดอยู่ตราบใด ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เป็นข้าบำเรอพระบรมบาทจงทุก ๆ ชาติ เทอญ ข้อนี้เป็นความสัตย์บริสุทธิ์ผุดจากดวงจิตของข้าพระพุทธเจ้า เป็นความสัตย์จริง ด้วยอำนาจความสัตย์นี้ ขอให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จงประสบแต่ การ,สิ่ง ที่เจริญทุกเมื่อ การสิ่งใดพัสดุ สิ่งใด ซึ่งไม่เป็นที่เจริญพระกมลราชหฤไทยขออย่าได้มีมาเกี่ยวข้องในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเลย

       ๕. เป็นบุคคลที่มักน้อย รักสันโดษ ความมักน้อย ข้อมูลประกอบ พ.ศ. ๒๔๑๘ พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ถึงแก่อนิจกรรม จึงทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งหลวงสารประเสริฐขึ้นเป็น “พระศรีสุนทรโวหาร” เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา ๓๐๐๐ (จะทรงตั้งให้เป็นที่พระศรีภูริปรีชาเสนาบดีศรีสารลักษณ์ เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา ๕๐๐๐ แต่หลวงสารประเสริฐ กราบบังคมทูลขอรับพระราชทานศักดินาเพียง ๓๐๐๐ เท่านั้น จึงเป็น “พระศรีสุนทรโวหาร”) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา ๓๐๐๐ ด้วยผลงานและความชอบในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่านจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดีพิริยะพาหะ” คงถือศักดินา ๓๐๐๐ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๒๕ ที่ว่าท่านถือสันโดษ เมื่อไปติดตามภาระกิจงานประจำในหน้าที่และงานที่สนองพระบรมราชโองการต่างๆ พระยาศรี ไม่มีเวลาเหลือที่จะสังสรรค่สโมสร ใด ๆเลยและมีข้อความที่สื่อได้ว่าพระยาศรีใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับสถานที่ทำงานแต่เราคงไม่ลงเรื่องราวนี้เป็นหลักฐานต่อส่ธารณะชน

       ๖.มีจิตวิญญาณ ในความเป็นครู ท่านให้ความรู้ที่มีในตัวท่านกับผู้อื่น แบบหมดตัว ถ่ายทอดออกมาเป็น บทเรียน บทประพันธ์ ผลงานขงท่าน เป็นทั้งหลักภาษา การประพันธื ความรู้ รอบตัวในวิถีชีวิต ผู้คนในยุคนั้น ต.ย. มากมายไม่ต้องยก คะ อ่านแล่วเรารับความรู้สึกได้ แต่มีเรื่องหนึ่งที่ต้องบอกกล่าวให้คนทั่วไปรับทราบ ในปี 2432มารดาของนายโป๋ (นางอิ่ม คอมันตร) ได้นำนายโป๋ ไปฝากพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ได้สอนหนังสือให้ในเวลาเช้า และให้นายโป๋ คอมันตร ติดตามเข้าไปที่พระที่นั่งเก๋งในพระบรมมหาราชวังทุกวัน เพราะระหว่างนั้นพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ต้องถวายพระอักษรสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอีกหลายพระองค์ เมื่อมีเวลาว่างท่านก็สอนหนังสือให้นายโป๋ คอมันตร ที่พระที่นั่งเก๋งองค์เล็ก นายโป๋ คอมันตร ได้อยู่กับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ตลอดมาจนท่านป่วยหนัก (ท่านถึงแก่อนิจกรรมใน ปี ๒๔๓๔ ) เป็นศิษย์ ในยุคบั้นปลายในชีวิตพระยาศรีสุนทรโวหาร ทั้งที่ภาระกิจ มีมากมาย ท่านก็ยังแบ่งเวลามาสอนนายโป๋ ให้ดังข้อความบน ท่านมีศิษย์ที่สูงในยศศักดิ์แล้ว ทางด้านศิษย์สูงในสมณักดิ์ ถือได้ว่าเป็นพระอาจารย์สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริ วฑฺฒโน) ก่อนที่จะครบกำหนดบวชเป็นสามเณรตามพระราชประเพณี ก็ได้ทรงเล่าเรียนหนังสือขอมจากพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) จนพระชนมายุ ได้ ๑๔ ชันษา จึงได้ทรงผนวชเป็นสามเณร

       ๗. เป็นครู ที่นอกจากให้วิชาความรู้แล้ว ยังเป็นครูผู้ส่งเสริมศิษย์ เจ้าจอมเพิ่ม รัตนทัศนีย มีตำแหน่งพระคลังใน เป็นกวีหญิงแห่งราชสำนัก และเป็นผู้สร้างวัดเสมียนนารี ท่านเกิดปี พ.ศ. ๒๔๐๐ เมื่ออายุ ๑๗ ปี เป็นเจ้าจอมอยู่งานในรัชกาลที่ ๕

   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเล็งเห็นอุปนิสัยและความสามารถเฉพาะตัวของ เจ้าจอมมารดาเพิ่ม ว่าเป็นคนใฝ่ความรู้ จึงโปรดให้ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย ) เป็นครูสอนหนังสือ ตลอดจนสอนกาพย์กลอนโคลงฉันท์ให้ โดยสอนที่มุขกระสัน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เรียนกันแบบตัวต่อตัวตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๓.๐๐ น. ทุกวัน วันหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เสด็จมาขณะที่คุณจอมกำลังเรียนลิลิตและกาพย์กลอน โคลงฉันท์อยู่ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ก็กราบบังคมทูลว่า เจ้าจอมเพิ่มมีความสามารถในเชิงกวีนิพนธ์ น่าจะเป็นกวีหญิงแห่งราชสำนักได้ จึงเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก  เมื่อเรียนจนจบวิชาแล้ว ก็โปรดให้เจ้าจอมเพิ่มได้ตามเสด็จไปตามที่ต่าง ๆ จะได้มีโอกาสชมภูมิประเทศที่สวยงามเพื่อให้เกิดจินตนาการในบทกวี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จพระราชดำเนินทุกแห่ง ไม่ว่าใกล้หรือไกล เช่น คราวหนึ่งเสด็จอ่างศิลาและเขาสามมุกพระเจ้าอยู่หัวทรงม้า คุณจอมก็นั่งเกวียนตามเสด็จฯ ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นท้าวภัณฑสารนุรักษ์ ตำแหน่งพระคลังใน ถือเป็นกวีเอกหญิงประจำพระราชสำนัก

       ๘.อัจฉริยภาพทางภาษาในการตั้งพระนามทรงกรม อัจฉริยภาพทางภาษาของท่าน ดังเช่น การคิดนิพนธ์ตั้งชื่อ หรือพระนามต่าง ๆ ที่โปรดให้คิดขึ้น ท่านก็คิดขึ้นโดยพิสดาร โดยเฉพาะพระนามทรงกรมของพระเจ้าน้องยาเธอ ที่มีพระประสงค์ให้มีความคล้องจองกัน โดยเรียงลำดับตามพระชันษาด้วย ดังนี้

   “มเหศวรศิววิลาส วิษณุนาถนิภาธร สมรรัตนสิริเชษฐ นเรศรวรฤทธิ์ พิชิตปรีชากร อดิศรอุดมเดช ภูธเรศธำรงศักดิ์ ประจักษ์ศิลปาคม พรหมวรานุรักษ์ ราชศักดิ์สโมสร ทิวากรวงศ์ประวัติ สิริธัชสังกาศ สรรพสาตรศุภกิจ สรรพสิทธิประสงค์ เทวะวงศ์วโรปการ วชิรญาณวโรรส สมมตอมรพันธุ์ วิวิธวรรณปรีชา พงศาดิศรมหิป นราธิปประพันธ์พงศ์ ดำรงราชานุภาพ พิทยลาภพฤฒิธาดา นริศรานุวัติวงศ์ มรุพงศ์สิริพัฒน์ ทิพยรัตนกิริฏกุลินี สวัสดิวัตนวิศิษฎ์ มหิศรราชหฤทัย”

   พระนามเหล่านี้สามารถอ่านกลับจากท้ายไปหน้า ก็ยังคงมีความคล้องจองกัน ดังนี้

“ราชหฤทัยมหิศร วิศิษฏ์สวัสดิวัตน์ กิริฏกุลินีทิพยรัตน สิริพัฒน์มรุพงศ์ นุวัติวงศ์นริศรา พฤฒิธาดาพิทยลาภ ราชานุภาพดำรง ประพันธ์พงศ์นราธิป ดิศรมหิปพงศา ปรีชาวิวิธวรรณ อมรพันธุ์-สมมต วโรรสวชิรญาณ วโรปการเทวะวงศ์ ประสงค์สรรพสิทธิ ศุภกิจสรรพสาตร สังกาศสิริธัช วงศ์ประวัติทิวากร สโมสรราชศักดิ์ วรานุรักษ์พรหม”

คำชี้แจง อนึ่งสำหรับนามกรม มเหศวรศิววิลาส วิษณุนาถนิภาธร เป็นการแต่งตั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนนามกรม สมรรัตนสิริเชษฐ มรุพงศ์สิริพัฒน์ ทิพยรัตนกิริฏ กุลินี สวัสดิวัตนวิศิษฎ์ มหิศรราชหฤทัย แต่งตั้งภายหลังจากพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) ถึงแก่อนิจกรรม ไปแล้ว และก่อนถึง นริศรานุวัดติวงศ์ ยังมีพระเชษฐภคินีในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ ที่ได้รับการทรงกรมเป็นพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยา อีกหนึ่งพระนาม ด้วย การตั้งพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ให้มีความคล้องจองกันเป็นความสามารถโดยทั่วไปของกรมพระอาลักษณ์ แต่การตั้งพระนามที่สามารถอ่านย้อนกลับและมีความคล้องจองได้ด้วยนั้น เป็นอัจฉริยภาพด้านภาษาโดยแท้จริงของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) 

       ๙. เป็นตัวอย่างที่เป็นแบบอย่างของสถาบันครอบครัว ในยุคสมัยนั้น บรรดาข้าราชบริพาร ล้วนมีภรรยากันหลายคน โดยเฉพาะระดับ พระยา หากแต่พระยาศรีสุนทรโวหาร( น้อย อาจารยางกูร) มีคุณหญิงแย้ม เป็นภรรยา แต่เพียงผู้เดียว เป็นที่น่ายกย่อง

       ๑๐. พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร ) เป็นที่ยอมรับชื่นชมยกย่อง ดังนี้ ท่านได้รับยกย่องจากพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งมีนามปากกาว่า น.ม.ส. โดยทรงนิพนธ์ไว้ในคำนำหนังสือ ปกีระณำพจนาดถ์ ว่า “...พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ผู้แต่งหนังสือนี้เป็นใหญ่ในพวกอาจารย์หนังสือไทย... เป็น “ศาลฎีกาในเรื่องหนังสือไทย” เมื่อตัดสินว่ากระไร ก็เป็นคำพิพากษาสุดท้าย ใครจะเถียงว่ากระไรก็ฟังไม่ขึ้นในสมัยนั้น”  ได้รับคำยกย่องจาก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โดยทรงพระนิพนธ์ไว้ใน พระประวัติตรัสเล่า ตอนที่ 5 ตัดความมาว่า กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ และกรมพระสมมตอมรพันธุ์ ได้มีธุระเสมอกับท่านจินตกวีชั้นสูง เช่นเสด็จป้ากรมหลวงวรเสฐสุดา กรมหลวงวิชิตปรีชากร พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ยกย่อง ท่านเป็น มหาปูชนียบุคคล ( โดยเหตุที่ท่านบวชเรียนเป็นมหา มาก่อนเสริมด้วย)

       ๑๑. พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร)ยึดมั่นในพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากและเด่นชัด ท่านจะเขียนโคลงนมัสการและสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้าก่อนการเขียนหรือประพันธ่ผลงาน

นี่คือตัวตนของพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) มี่ท่านประธานอาจมองเห็นท่านได้ลึกกว่าอมร ท่านเป็นปราชญ่สยามสามสมัย เป็นปรมาจารย่ภาษาไทย เป็นเพชรประดับพระมหามงกุฏ เม็ดหนึ่งในหลายๆเม็ดร่วมกับรัตนชาติทั้งปวงที่ประดับบนมงกุฏกษัตริย์ของรัชกาลที่ ๕